กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นหน่วยงานสังกัด กระทรวงยุติธรรม เป็นองค์การหลักในการบังคับใช้กฎหมาย กับอาชญากรรมพิเศษตามมาตรฐานสากล ตลอดระยะเวลา กว่า 20 ปี มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน สามารถทวงคืนที่ดินและทรัพย์สินคืนให้แก่ประเทศชาติ ช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมพิเศษ รวมถึง
อาชญากรรมข้ามชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและเกิดปัญหาสังคม ทั้งนี้ผลสัมฤทธิ์ดังกล่าว เป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมาตรการทางกฎหมายพิเศษ ตลอดจน การได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งภายในและภายนอกประเทศในการดำเนินคดีพิเศษ ภายใต้พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พุทธศักราช 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเพื่อให้เป็นไปตามปรัชญาการทำงานของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ได้มอบให้บุคลากรในหน่วยงานยึดถือปฏิบัติที่ว่า “DSI เข้าถึงง่าย ได้ความยุติธรรม” จึงได้เชิญหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย และประชาชน ให้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจ และร่วมเป็นเครือข่าย DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้จัดการแถลงผลการปฏิบัติงานและนิทรรศการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศา ครบ 20 ปีขึ้น
วันนี้ (วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2565) ณ สถาบันการสอบสวนคดีพิเศษ แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการแถลงผลการปฏิบัติงาน และนิทรรศการการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ครบ 20 ปี โดยมีนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการคดีพิเศษ และองค์กรภาคี เครือข่ายและผู้สนับสนุนกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วมงาน
กรมสอบสวนคดีพิเศษ จัดการแถลงผลการปฏิบัติงานและนิทรรศการ การจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ครบ 20 ปี
ประกอบด้วย การมอบโล่เกียรติยศของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมปฏิบัติงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษจนเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างดียิ่ง การมอบเหรียญแม่นปืนกิตติมศักดิ์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษให้กับคณะกรรมการคดีพิเศษทุกท่าน พร้อมกันนี้ ภายในงานได้จัดกิจกรรมนิทรรศการผลงานสำคัญ ๆ อาทิ การดำเนินคดีแชร์ลูกโซ่ (FOREX 3 D) , การแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานออนไลน์ (scammer) , การทุจริตสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ , การดำเนินการยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติด , 8 ปีการค้นหาความยุติธรรม การหายตัวไปของ”บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ เป็นต้น
การจัดให้มีจุดแสดงอาวุธยุทธภัณฑ์ , เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนและการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ , การนำอากาศยานไร้คนขับและแอพพลิเคชั่นระบบแผนที่ GIS เพื่อสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ และผลงานอื่น ๆ อีกมากมาย