อาการมือสั่น…ไม่ใช่เรื่องเล่นอีกต่อไป
มือของคุณสั่นใช่ไหม ?
มือของคุณสั่นขณะทำกิจกรรมหรือไม่ ?
อาการมือสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่อาจส่งผลต่อชีวิตคุณ
มือสั่น เป็นอาการที่ก่อให้เกิดความยากลำบากในการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน แม้จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต หรือดูเหมือนเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในคนปกติเมื่อร่างกายอยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน เช่น ตื่นเต้น มีความเครียด มีความกังวลหรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แต่อาการมือสั่นที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นของโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท และสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือเกิดการเสื่อมสภาพของร่างกาย หากอาการมือสั่นที่เป็นอยู่รุนแรงมากขึ้น อาจเป็นไปได้ว่าคุณเสี่ยงที่จะเป็น “โรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ” หรือ Essential Tremor
อาการมือสั่นที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเป็นอาการที่พบได้บ่อย และมักเป็นอาการแสดงหนึ่งของโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) และ โรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor) โดยทั้งสองโรคนี้ผู้ป่วยจะมีลักษณะของอาการมือสั่นที่แตกต่างกันและมีวิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกัน การวินิจฉัยเพื่อแยกโรคสามารถพิจารณาได้โดยดูว่าอาการสั่นเกิดขึ้นในช่วงใด ในโรคพาร์กินสันอาการมือสั่นมักจะเกิดขึ้นในขณะมืออยู่นิ่ง และเกิดกับมือด้านใดด้านหนึ่งก่อน โดยผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักพบมีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อเกร็ง หรือ ทรงตัวไม่ดี ในขณะที่อาการมือสั่นในโรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุมักจะเกิดขึ้นกับมือทั้งสองข้างและมีอาการมือสั่นในขณะใช้มือทำกิจกรรมเป็นหลัก เช่น ขณะหยิบของ เขียนหนังสือ หรือ ตักอาหาร เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมือสั่นไม่รุนแรงและไม่กระทบกับชีวิตประจำวัน เช่น ใช้มือเขียนหนังสือได้ดี สามารถใช้มือจับแก้วและยกดื่มน้ำได้ไม่หก ในบางรายอาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากอาการสั่นนี้กระทบต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น เขียนหนังสือแล้วลายมือเปลี่ยน ใช้มือหยิบแก้วแล้วน้ำหก ไม่สามารถใช้มือจับช้อนตักข้าวได้ เบื้องต้นควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
การรักษาโรคมือสั่น โดยทั่วไปมีวิธีการรักษา ดังนี้ (1) การรักษาด้วยยา ซึ่งการให้ยานั้นแพทย์จะพิจารณาการให้ยาตามอาการของผู้ป่วยในแต่ละราย (2) การทำภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การนั่งและการทรงตัว ผู้ป่วยจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น และ (3) การผ่าตัด มักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการยังไม่มากหรือผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยารับประทาน การผ่าตัดจะใช้วิธีฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) ซึ่งการผ่าตัดก็อาจตามมาด้วยความเสี่ยง และมีผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ทั้งนี้การรักษาทุกรูปแบบจะอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์ผู้ทำการรักษา
ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ในการรักษาอาการสั่น ทั้งโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) และ โรคสั่นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor) ด้วยวิธี Exablate ซึ่งเป็นทางเลือกของผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือในผู้ป่วยที่ไม่ประสงค์จะเข้ารับการผ่าตัดผังอุปกรณ์ไว้ภายในร่างกาย ซึ่ง Exablate เป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการสั่นโดยไม่มีบาดแผลใดๆ ใช้วิธีการรวมศูนย์คลื่นเสียงความถึ่สูงร่วมกับการนำทางคลื่นเสียงด้วยเครื่อง MRI ซึ่งแพทย์สามารถกำหนดเป้าหมาย และรักษาสมองส่วนที่ทำให้เกิดอาการสั่นได้อย่างแม่นยำ หลังการรักษาอาการสั่นจะหายหรือลดลงอย่างเห็นได้ชัด และสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติภายใน 1 วัน
การรักษาด้วยวิธี Exablate นี้ มีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วมากกว่า 5,000 ราย ตามโรงพยาบาลชั้นนำทั่วโลกที่มีชื่อเสียงด้านการรักษาและเทคโนโลยีทางการแพทย์กว่า 50 แห่ง ในยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา เช่น มาโยคลินิก (Mayo Clinic) โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University Hospital) บริกแฮมแอนด์วีเมนส์ (ฮาร์วาร์ด) (Brigham and Women’s (Harvard)) และ ดิ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (The Imperial College London)
สำหรับประเทศไทย นับเป็นศูนย์การรักษาแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มใช้เทคโนโลยี Exablate Neuro System โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาล 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช และ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลศิริราช โทรศัพท์ 02-414-0135 ติดต่อคุณสุรีรัตน์ จันทร์พาณิชย์ ห้องตรวจ MRI อาคารนวมินทรฯ ชั้น 4 วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ เวลา 8.00-16.00 น. และ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ณ ศูนย์ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษาเพื่อปวงชน โทรศัพท์ 02-576-6000 หรือผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อีเมล์ contact@medfocus.co.th และเว็บไซด์ https://www.medfocus.co.th