คณบดี ท่องเที่ยวฯ DPU ส่งกำลังใจ ผปก.พ้นวิกฤติโควิด-19 เชื่อหากสถานการณ์กลับสู่ปกติ-เอกลักษณ์ไทยยังเป็นที่สนใจของ นทท.
คณบดีการท่องเที่ยวฯ DPU ส่งกำลังใจให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 มั่นใจหลังวิกฤติโรคระบาดไทยยังเป็นที่สนใจ พร้อมแนะปรับตัวสู่ New Normal แต่ยังคงยึดหลัก “เอกลักษณ์ไทย” ชี้ผลวิจัยระบุชัด คือ สาเหตุหลักที่นักท่องเที่ยวกลับมาไทยซ้ำ
ผศ.ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวต่อสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยว่า วันนี้ สถานการณ์การระบาดใหญ่ COVID-19 ยังคงอยู่กับประเทศไทยและเราต่างรอคอยว่าเมื่อไหร่จะสิ้นสุดลง โดยส่วนตัวเชื่อว่าการกักตัวใน ASQ แบบมี social distance ควรจะได้รับการสนับสนุนให้ทำต่อไป สำหรับเมืองท่องเที่ยวที่เน้นตลาดต่างชาติ เช่น ภูเก็ต กระบี่ สมุย เนื่องจากหลายโรงแรมมีความเหมาะสมด้านสถานที่ เช่น มีระเบียงหน้าห้อง ที่นักท่องเที่ยวสามารถ นั่งเล่น และอาบแดดได้ ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งจากแถบยุโรปรวมถึงประเทศที่มาจากเมืองหนาวอยู่แล้ว ในระหว่างนี้โรงแรมอาจต้องประคองตัวเพื่อให้ผ่านพ้นสภาวะวิกฤตินี้ไปได้ และพิจารณาเรื่องการปรับตัวสำหรับ New Normal รวมไปถึงพัฒนาในเรื่องที่สำคัญเพื่อพร้อมให้บริการ หลังสถานการณ์โควิดสิ้นสุดลง และโดยส่วนตัวเชื่อว่าประเทศไทยยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกปรารถนาจะมาเยือนอีกครั้ง ด้วยประทับใจในความเป็น “คนไทย” ซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์และต้นทุนสำคัญของชาติทีเดียว
ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าวด้วยว่า จากการศึกษาเรื่องความผูกพันต่อสถานที่ (place attachment) ซึ่งมีการศึกษากันมานานกว่า 40 ปี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานวิจัยที่เน้นความผูกพันภายในชุมชน เมือง หรือสถานที่ภายประเทศของตนเอง แต่การศึกษาเรื่องความผูกพันต่อแหล่งท่องเที่ยวที่ไปเยือนชั่วคราว โดย เฉพาะในต่างประเทศพึ่งมีมาราวหนึ่งทศวรรษ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้มาเยือนผูกพันต่อแหล่งท่องเที่ยวของแต่ละประเทศก็อาจจะแตกต่างกันไป เช่น ความสวยงามของภูมิประเทศ ผู้คน วัฒนธรรม แบบแผนในสังคม ฯลฯ โดยประเด็นหลักในทฤษฎีที่ศึกษาเกี่ยวกับความผูกพันต่อสถานที่ (place attachment) มักจะวัดเป็น 2 ด้าน คือ ด้านกายภาพ และด้านอารมณ์และความรู้สึก ประเด็นเรื่องนี้น่าสนใจ เนื่องจากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าความผูกพันต่อแหล่งท่องเที่ยว แม้มาเพียงชั่วคราว จะส่งผลต่อความต้องการกลับมาเยือนซ้ำอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในด้านการวางแผนการตลาดของแหล่งท่องเที่ยวของประเทศ และสถานที่ต่างๆ เช่น โรงแรม อย่างไรก็ตามคำถามที่นักวิจัยหลายคนนำมาใช้ในการวัดความผูกพันต่อสถานที่ จะเน้นคำถามกว้างๆเกี่ยวกับความผูกพันกับสถานที่ เช่น ฉันชอบมาเยือนที่นี่ ฉันพึงพอใจในสถานที่นี้มากกว่าที่อื่น ที่นี่คือสถานที่ๆฉันอยากมาเยือนมากที่สุด
คณบดีการท่องเที่ยวและการโรงแรม มธบ.กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ตนเองสนใจในเรื่องนี้ เนื่องจากในอดีตมักได้ยินชาวต่างชาติพูดถึงคนไทยในเรื่องความเป็นมิตร จึงได้ทำวิจัย โดยใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสาน โดยในขั้นต้นใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก กับนักท่องเที่ยวจำนวน 20 คน (ชาวยุโรป 13 คน อเมริกัน 2 คน มาเลเซีย 2 คน ออสเตรเลีย 2 คน นิวซีแลนด์ 1 คน เป็นนักท่องเที่ยวที่มาซ้ำ 15 คน และมาครั้งแรก 5 คน) คนที่เดินทางมาซ้ำ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เขาอยากกลับมาอีก 5 อันดับต้น คือ คนไทย (87%) รองลงมา คือ อาหารไทย (73%) สินค้าราคาถูก (60 %) วัฒนธรรม (33 %) วิถืชีวิต (13%) ส่วนคนที่มาครั้งแรก 5 คน กล่าวถึงปัจจัยที่จะทำให้เขาอยากกลับมาอีก คือ คนไทย (80 %) รองลงมา คือ อาหารไทย (40%) สินค้าราคาถูก (40%) วัฒนธรรม (20%) การช๊อปปิ้ง (20%)
สำหรับด้านกายภาพ สิ่งทำให้นักท่องเที่ยวที่เคยมาแล้ว รู้สึกผูกพัน คือ เกาะ ชายหาด ภูมิทัศน์ ธรรมชาติ (80%) ภูมิอากาศ แสงแดด (60 %) วัดวาอาราม (13%) และอื่นๆเช่น โรงแรม สนามกอล์ฟ ส่วนนักท่องเที่ยวที่มาครั้งแรก สิ่งที่ทำให้รู้สึกผูกพันและและต้องการกลับมาเยือนอีก คือ เกาะ และ ชายหาด (40%) และ ภูมิอากาศ (40%) จากการสัมภาษณ์จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวผูกพันและต้องการกลับมาเยือนเมืองไทย ในด้านสังคม คือ อัธยาศัยของคนไทย รองลงมาคือ อาหารไทย สินค้าราคาไม่แพง วัฒนธรรมไทย และวิถีชีวิตคนไทย ส่วนด้านกายภาพ ประเด็นสำคัญ คือ เกาะแก่งและชายหาดที่สวยงาม ภูมิทัศน์และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ภูมิอากาศ แสงแดด วัดวาอาราม และมีโรงแรมที่ดี
แต่สิ่งที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ ความเป็นมิตรของคนไทย โดยนักท่องเที่ยวกล่าวถึงคนไทยโดยใช้ประโยคที่ว่า ‘Thai people are friendly’. (คนไทยเป็นมิตร) ‘I like mentality of the Thais’. (ฉันชอบจิตใจของคนไทย) ‘Thai people are the best’. (คนไทยดีที่สุด) ‘Thai people are kind, sweet and open’. คนไทยใจดี อ่อนหวาน และ เปิดเผย เมื่อถามนักท่องเที่ยวว่าหากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมีความสวยงามเท่าๆกันกับประเทศอื่น เขาจะเลือกไปที่ไหน พวกเขาตอบว่าจะมาเมืองไทย เพราะคนไทยเป็นมิตรกว่า อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวที่มาซ้ำบางคน กล่าวว่า ‘Thai people are slightly less friendly than before’. (ความเป็นมิตรของคนไทยค่อยๆลดน้อยลงกว่าแต่ก่อน)
ดังกล่าวข้างต้น ผู้วิจัยจึงได้นำคำถามเรื่องความผูกพันกับคนท้องถิ่นไปเพิ่มในเครื่องมือวัดความผูกพันต่อสถานที่ๆใช้อยู่เดิม โดยใช้คำถามว่า ‘I have an emotional attachment to the people’. ฉันมีความรู้สึกผูกพันกับผู้คน โดยการแจกแบบสอบถามให้นักท่องเที่ยวจำนวน 300 คน ในเมืองหัวหินและเมืองพัทยา ผลการวิจัยพบว่าคำถามนี้สามารถวัดความผูกพันกับแหล่งท่องเที่ยวที่มาเยือนได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ คุณลักษณะของ ‘คนไทย’ ที่นักท่องเที่ยวกล่าวถึงคือ ความเป็นมิตร ความมีจิตใจดี ความใจดีชอบช่วยเหลือ และมีน้ำใจต่อผู้มาเยือน คนไทย คือ ต้นทุนที่สำคัญของการท่องเที่ยวไทย และเป็นปัจจัยสำคัญมาก ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากกลับมาเยือนซ้ำ ดังนั้น การปลูกผัง ความมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือ และการถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยจากคนรุ่นเก่าไปยังเยาวชน เช่น การไหว้ ความอ่อนน้อม การยิ้มแย้ม การใช้คำพูดที่เหมาะสม จึงควรปลูกผัง ตั้งแต่ในระดับครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากที่ทำให้ประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆ และได้รับความชื่นชมจากผู้มาเยือน แน่นอนที่สุดในยุคโลกาภิวัฒน์ ความเจริญทางเทคโนโลยี่ สื่อสังคมออนไลน์ (social media) อาจทำให้คนรุ่นใหม่และเยาวชนไทยได้รับอิทธิพลและรับวัฒนธรรมจากประเทศอื่นๆ จึงอาจทำให้วิธีคิด และปฏิบัติของแบบไทยเปลี่ยนไป จึงอยากให้เยาวชนศึกษาเรียนรู้และเลือกรับแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันก็รักษาคุณลักษณะของความเป็นไทยไว้
ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าวในตอนท้ายว่า แม้ผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจ การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างมาก แต่เชื่อว่าอีกไม่นานนัก หากสถานการณ์คลี่คลายลง การท่องเที่ยวจะกลับมาบูม และมีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องพร้อมปรับวิถีการทำงานสู่ยุค New Normal โดยอย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากกลับมาประเทศไทย คือ คนไทย รอยยิ้ม การต้อนรับขับสู้อย่างยินดี ให้สมกับเป็น Thailand is the land of smiles. ดังนั้นแม้คนไทยจะผ่านความทุกข์ยากและลำบากในช่วง COVID-19 หากเราพร้อมเปิดรับการท่องเที่ยวได้เมื่อไหร่ ก็จะต้องคงรักษาลักษณะความเป็นไทยนี้ไว้ ขอเป็นกำลังใจให้คนไทยยัง “ยิ้มสู้” ต่อไป