ในบ้านเราพบปลากุเลามากทางทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จังหวัด สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส
ที่อำเภอตากใบ เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่มีปลากุเลาชุกชุม อีกทั้งเนื้อปลายังมีรสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่นๆ ทำให้ปลากุเลาตากใบ เป็นปลาเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงของนราธิวาส
ปัจจุบันปลากุเลาตากใบได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา สาเหตุที่ทำให้ปลากุเลาตากใบ พิเศษกว่าที่อื่นๆ คือ ได้รับขนานนามว่าเป็นปลา 3 น้ำ ประกอบด้วย แม่น้ำสุไหงเกนติ้ง ประเทศมาเลเซีย, แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสุไหง-โกลก ที่ครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยและมาเลเซีย แหล่งบรรจบของ 3 แม่น้ำดังกล่าวนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุและแหล่งอาหารสำคัญของปลากุเลาในพื้นที่ตากใบ ด้วยปัจจัยแหล่งอาศัยอันนำมาซึ่งปลากุเลาคุณภาพดีนี้ ทำให้ชาวตากใบให้ความสำคัญกับสมดุลระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เพื่อคงความสมบูรณ์ของแหล่งอาหารของปลากุเลา อีกทั้งเป็นอันทราบกันดีในหมู่ชาวประมง ในการจับปลากุเลาที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักตัวเกิน 1 กิโลกรัมขึ้นไป และจับปลากุเลาแค่ในฤดูกาลเท่านั้น (เดือนกันยายน – พฤศจิกายน)
นอกเหนือจากคุณภาพที่ได้รับการการันตีแล้ว อีกปัจจัยที่ทำให้ปลากุเลาตากใบ มีชื่อเสียงและราคาสูง ก็คือ ภูมิปัญญาการทำปลากุเลาเค็มของคนตากใบ ที่สั่งสมและสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น แต่ละบ้าน แต่ละร้านก็มีเคล็ดลับของตัวเอง ในการทำปลาให้มีเนื้อสัมผัสที่แตกต่าง รสชาติเค็มหวาน มัน อร่อย สามารถกินได้ตลอดทั้งตัว แม้กระทั่งส่วนหัวก็นำมาประกอบอาหารได้ด้วย
กรรมวิธี อันเป็นภูมิปัญญาปลาเค็มที่โดดเด่นของชาวตากใบ แล้วแต่ร้านใดจะปรับกระบวนการผลิต นอกจากความเข้มงวดในการเลือกปลาสดใหม่ที่จับได้ในอำเภอตากใบเท่านั้นแล้ว ก็คือการล้างทำความสะอาด ขอดเกล็ด ควักไส้และเครื่องในออก ล้างจนสะอาดหมดจด แล้วนำไปตากแห้ง สิ่งสำคัญคือการป้องกันไม่ให้แมลงบินต่างๆ เข้าถึงตัวปลาได้เป็นอันขาด ขณะตากปลาต้องห้อยหัวปลาลง เพราะเมื่อโดนแดดจัดหรือความร้อนสูง จะทำให้น้ำมันปลาไหลเยิ้มออกมา ดังนั้นในการตากแห้งช่วงแรก จึงต้องใช้กระดาษปิดหัวปลาไว้อย่างมิดชิด และคอยเปลี่ยนทุกครั้งเมื่อกระดาษเริ่มมันและเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
กระบวนการพิเศษระหว่างการตากแห้ง ซึ่งอาจเป็นเคล็ดไม่ลับ นั่นก็คือ การนวดปลา ด้วยขวดแก้วกลม สลับกับการตากแห้ง เพื่อให้เนื้อปลาละเอียดนุ่ม ผิวปลาเรียบเนียนสวย บางร้านละเอียดลออ ถึงขั้นใช้มีดลูบไล้ ขูดเอาน้ำมันส่วนเกินจากผิวปลาออกด้วย
เรียกได้ว่า เป็นกระบวนการผลิตที่ต้องพิถีพิถัน ใส่ใจในทุกขั้นตอน กว่าจะได้มาซึ่งปลากุเลาเค็มตากแห้ง ทำให้ปลากุเลาตากใบ มีราคาขายแพงมาก ปัจจุบันราคาขายอยู่ระหว่าง กิโลกรัมละ 1,700 – 2,000 บาท ถึงจะมีราคาแสนแพง แต่ชื่อเสียงความอร่อยนี้ ทำให้ปลากุเลาตากใบที่จับได้แต่ละครั้ง ถูกจับจองหมดเสมอ
#ใต้สุดอยู่ไม่ไกล
#ใต้ธงไทยเดียวกัน
#นราธิวาส
#ตากใบ
#ปลากุเลาตากใบ