0 0
Read Time:8 Minute, 19 Second

เชิญชมคลิปดีๆ ทางออกด้านสุขภาพ จาก “รายการคิดเช่นหมอ”

จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

ทางออกด้านสุขภาพใกล้ๆ ตัว ใครๆ ก็ปฏิบัติตามได้  เชิญชมคลิปดีๆ จาก“รายการคิดเช่นหมอ” รายการเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน  จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข  5  ตอน   ดังนี้

 

ตอนที่ 1  :  วันนั้นของเดือน   คลิ๊ก

ตอนที่ 2  :  สมุนไพรเสริมภูมิ   คลิ๊ก  

ตอนที่ 3  :  อาหารช่วยลดความเครียด  คลิ๊ก   

ตอนที่ 4  :  อาหารตามธาตุเจ้าเรือน  คลิ๊ก

ตอนที่ 5  :  อาหารกัญชา  คลิ๊ก 

 

ทั้งนี้สามารถอ่านข้อมูลประกอบของแต่ละตอน  ได้ดังนี้

ตอนที่ 1  :  วันนั้นของเดือน  

อาการปวดประจำเดือน มักจะมีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1 – 2 วัน และปวดท้องท้องระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งมีผลมาจากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโลน

และมีความสอดคล้องกับตำราการแพทย์แผนไทยพระคัมภีร์มหาโตรัตน์ที่อธิบายถึงโรคโลหิตสตรีว่าช่วงที่มีประจำเดือนจะมีอาการปวดหน่วง ปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย และอาจมีอาการ ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดกระดูก วิงเวียนศรีษะ หรือปวดศรีษะร่วมได้ ซึ่งพอประจำเดือนหยุดอาการต่าง ๆ จะหายไปเป็นปกติ

ทางการแพทย์แผนไทยเรียกว่า โลหิตปกติโทษ ช่วงที่มีประจำเดือนไม่ควรรับประทานอาหารหรือสมุนไพรที่มีรสเย็น เช่น น้ำเย้น ไอศกรีม น้ำมะพร้าว น้ำแตงโม น้ำใบบัวบก น้ำใบย่านาง เพราะจะทำให้เลือดประจำเดือนขับออกมาได้ไม่ดี และมีอาจมีอาการปวดเพิ่มขึ้น

ส่วนอาหารที่ควรรับประทานช่วงที่มีประจำเดือนคืออาหารหรือสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ เพราะจะช่วยขับเลือดประจำเดือน ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก และในช่วงที่มีประจำเดือนให้หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ไม่ควรออกกำลังกายที่มีการกระแทกรุนแรง เพราะอาจเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาของมดลูกในอนาคตได้

ตอนที่ 2  สมุนไพรเสริมภูมิ   

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยการสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง จึงขอแนะนำสมุนไพรที่เหมาะจะรับประทานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

กระชาย รสเผ็ดร้อนขม เหง้าและกระโปกกระชาย ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด บำรุงกำลัง ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ บำรุงกำหนัด มีสรรพคุณคล้ายกับโสม บางทีหมอแผนโบราณ มักจะเรียกว่าโสมไทย นิยมกินเป็นอาหาร และทำเป็นเครื่องดื่ม

ขิง รสเผ็ดร้อน แก้ท้องอืดเฟ้อ เสียดท้อง อาหารไม่ย่อย บรรเทา อาการไอ ระคายคอ ขับเสมหะ ขมิ้นชัน รสเผ็ดร้อนฝาด บำรุงธาตุ ฟอกโลหิต แก้พิษโลหิต แก้เสมหะ แก้ไข้ทั้งปวง แก้ผดผื่นคัน แก้โรคผิวหนัง พลูคาว/ผักคาวตอง รสเผ็ด แต่ออกฤทธิ์เป็นยาเย็น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ปัสสาวะ

ใบหม่อน รสจืดเย็น เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ ไข้หวัด ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ และเป็นยาช่วยขับลมร้อน ผลรสเปรี้ยวหวานเย็น เป็นยาเย็น ยาระบายอ่อนๆ แก้ธาตุไม่ปกติ บรรเทาอาการกระหายน้ำ ใช้แก้ไข้ แก้เจ็บคอ ทำให้ชุ่มคอ ดับร้อน ช่วยย่อย และเพื่อความสดชื่น

หอมแดง รสหอมปร่า ใช้หัวแก่จัดๆ กินเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ แก้หวัดคัดจมูก ใช้หัวตำสุมหัวเด็กแก้หวัด แก้ไข้ลดความร้อน แก้ไอ

กระเทียม รสเผ็ดร้อนฉุน แก้ลมจุกเสียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ธาตุพิการอาหารไม่ย่อย ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ลดไขมัน รักษาปอด แก้ปอดพิการ บำรุงธาตุ แก้ไอ แก้ไข้ ไข้หวัดคัดจมูก ไข้เพื่อเสมหะ

ตะไคร้ รสหอมปร่า ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด แก้อาการเกร็ง ขับเหงื่อ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้อาการขัดเบา ทำให้เจริญอาหาร ลดความดันโลหิต แก้เบื่ออาหาร บำรุงไฟธาตุ แก้กระษัย และ กะเพรา รสเผ็ดร้อนฉุน แก้ปวดท้อง ท้องขึ้นจุกเสียด ขับผายลม ขับเหงื่อ แก้ไข้ ขับเสมหะ ขับลม แก้ท้องเสีย บำรุงธาตุให้เป็นปกติ

สำหรับเมนูอาหาร เครื่องดื่มสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานร่างกาย ขอแนะนำ เมี่ยง เช่น เมี่ยงคำ เมี่ยงปลาทู และ เมี่ยงผักสด/เมี่ยงปลาเผา หรือ น้ำพริกแบบไทยๆ เช่น น้ำพริกอ่อง น้ำพริกปลาทู น้ำพริกมะขามป้อม พร้อมผักเคียง และต้มไก่บ้านใส่ใบหม่อน

ในส่วนเครื่องดื่ม ขอแนะนำ น้ำขิง น้ำกระชาย น้ำตรีผลา น้ำมะขามป้อม น้ำฝรั่ง น้ำลูกหม่อน ชาหม่อน ชาตะไคร้ ชาใบเตย ชาใบกะเพรา เป็นต้น

 

ตอนที่ 3  :  อาหารช่วยลดความเครียด 

ในปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันคนไทยมากขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้หลายๆ คนเกิดความเครียดจากการเสพสื่อดังกล่าว โดยความเครียด (stress) เป็นการตอบสนองทางสรีรวิทยา (physiological) และทางจิตวิทยา (psychological) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย คือ       มีอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ มีอาการวิงเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง และภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวก็จะกระตุ้นให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบได้ง่ายเช่นกัน                ส่วนผลกระทบด้านจิตใจ ทำให้โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน หลงลืม และถ้าปล่อยให้เกิดความเครียดเรื้อรังต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า หรือส่งผลให้มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตได้

ทางการแพทย์แผนไทยมีหลากหลายวิธีในการผ่อนคลายความเครียดให้ลดน้อยลง โดยใช้สมุนไพรที่มีอยู่ใกล้ตัวดังนี้

1.กลุ่มหนึ่ง เครื่องเทศที่มีฤทธิ์ร้อน ได้แก่  ขิง ขมิ้นชัน กะเพรา กระเทียม กระชาย ตะไคร้ หอมแดง ใบมะกรูด มะนาว จะช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิต ทำให้เลือดลมไหลเวียนดี สามารถบรรเทาอาการปวดตึงของกล้ามเนื้อ  และกระตุ้นการการบีบตัวของลำไส้ ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้เป็นปกติ และยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้ร่างกายแข็งแรง สำหรับเมนูอาหารที่สามารถนำสมุนไพรกลุ่มนี้ไปทำเป็นอาหาร ได้แก่ ต้มยำ ต้มโคล้ง ต้มจืดกะเพรา และเมนูยำต่างๆ ที่สำคัญคือ ต้องปรุงสุก สด ใหม่เสมอ ส่วนน้ำสมุนไพร ได้แก่ น้ำขิง น้ำตะไคร้ ชาใบหม่อน น้ำมะนาว เป็นต้น

  1. กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มดอกไม้หอม ได้แก่  ดอกมะลิ จำปี จำปา และกุหลาบมอญ กลิ่นของสมุนไพรดังกล่าว ดอกมะลิมาลอยน้ำดื่ม หรือนำสมุนไพรดังกล่าวมาวางไว้ที่หัวเตียงเวลานอน หรือการใช้ยาหอมชงดื่มก่อนนอน กลิ่นของสมุนไพรจะช่วยให้ผ่อนคลาย ปรับอารมณ์ให้เป็นปกติ และช่วยให้หลับสบายคลายจากความเครียดได้

 

ตอนที่ 4  :  อาหารตามธาตุเจ้าเรือน 

ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยร่างกายมนุษย์ประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งในแต่ละคนจะมีธาตุเด่น เรียกว่าธาตุเจ้าเรือน ตามทฤษฎีโบราณจะใช้รสชาติอาหารเป็นยารักษาโรคซึ่งรสอาหารต่าง ๆ จะมีผลต่อการปรับสมดุลของร่างกาย ดังนี้

1.ธาตุดิน คือคนที่เกิดเดือน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม  มักมีร่างกายแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย ยกเว้นผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรม คนกลุ่มนี้สามารถรับประทานอาหารได้ทุกรส ฝาด หวาน มัน เค็ม แต่ก็ให้รับประทานแต่พอดี

2.ธาตุน้ำ คือคนที่เกิดในเดือน กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน  จุดอ่อนด้านสุขภาพ คือ มักเจ็บป่วยด้วยหวัด เจ็บคอ และ มีเสมหะได้ง่าย ควรปรับสมดุลธาตุด้วยการเน้นรับประทานสมุนไพรรสเปรี้ยวและรสขม โดยสมุนไพรรสเปรี้ยว ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ ช่วยระบายท้อง เช่น ยอดมะขาม, มะนาว, ผักติ้ว, ใบชะมวง ส่วนสมุนไพรรสขมช่วยลดไข้ เช่น มะเขือพวง, ฝักเพกา, ดอกขี้เหล็ก, ยอดมะเฟือง, สะเดา

3.ธาตุลม คือคนที่เกิดเดือน เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน มีจุดอ่อนด้านสุขภาพ คือ ท้องอืด ท้องเฟ้อ วิงเวียนศีรษะ และปวดเมื่อยได้ง่าย ควรปรับสมดุลธาตุด้วยการเน้นรับประทานสมุนไพรรสเผ็ดร้อน เพราะช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ กระตุ้นเลือดลมให้ไหลเวียน เช่น ข่า, ตะไคร้, แมงลัก, กะเพรา, โหระพา, พริกไทย

4.ธาตุไฟ คือคนที่เกิดเดือน มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม มีจุดอ่อนด้านสุขภาพ คือ มักเป็นไข้ตัวร้อน เป็นแผลร้อนใน เป็นสิว ผิวหนังอักเสบ นอนไม่ค่อยหลับ อารมณ์แปรปรวน ควรปรับสมดุลธาตุด้วยการเน้นรับประทานอาหารที่มีสมุนไพรรสขม จืด เย็น จะช่วยแก้ไข้ ลดความร้อนภายในร่างกาย ช่วยให้นอนหลับสบาย และลดการอักเสบของผิวหนัง เช่น มะระ, ขี้เหล็ก, สะเดา, ฟัก, แฟง, ตำลึง, ผักบุ้ง, แตงกวา

 

ตอนที่ 5  :  อาหารกัญชา 

วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนไทยนั้นมีเอกลักษณ์และความหลากหลายแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค การนำใบกัญชามาเป็นส่วนหนึ่งในตำรับอาหารนั้น มักจะนิยมนำผสมในเมนูอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนจัดจ้าน   เช่น  ต้มยำ  แกงป่า   แกงอ่อม น้ำพริก  หากได้รับประทานอาหารรสเผ็ดร้อนที่มีกัญชาผสมอยู่   จะช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ   คลื่นไส้อาเจียน   วิงเวียนศีรษะ ปวดตามร่างกาย นอนไม่หลับ เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการทางธาตุลมให้ทุเลาลงได้ กัญชามาปรุงผสมในอาหารตามวิถีชาวบ้านในสมัยก่อนมักจะปรุงในอาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อน ที่มีสมุนไพร    พริก  ขิง  ข่า  ตะไคร้ พริกไทย   กะเพรา   เป็นองค์ประกอบรวมอยู่ด้วยเช่น เมนู ต้มยำ ก๋วยเตี๋ยว หรือผัดเผ็ด        เป็นต้น

ใช้กัญชาอย่างปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ควรสำรวจตนเองก่อนว่าอยู่ในกลุ่มที่ไม่ควรใช้กัญชาหรือไม่ หากอยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ ก็ไม่ควรใช้กัญชาหรือบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ได้แก่

1.  หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
2.  เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
3.  ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้
4.  ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด
5. ผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของตับหรือไตบกพร่องรุนแรง
6. ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคทางจิตเวช

 

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %