GISTDA จับมือ วช. และจังหวัดภูเก็ต ต่อยอด COVID-19 iMap Platform สู่การพัฒนาระบบการแสดงผลที่สำคัญสำหรับการตัดสินใจ

นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวรายงาน

14 ธันวาคม 2564 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินงานวิจัยโครงการพัฒนาระบบบริหารสถานการณ์ รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อพัฒนาเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจ ณ ห้องดวงชนก 1-2 โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต โดยได้รับเกียรติจากนายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวเปิดพร้อมให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้

นายปิยพงศ์ ชูวงศ์   รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  กล่าวเปิดงาน

นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบบริหารสถานการณ์ รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 นี้ เป็นโครงการที่ใช้ภูมิสารสนเทศมาช่วยวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดจนนำไปสู่การควบคุมพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ พร้อมขยายระบบให้รองรับผู้ใช้งานได้เพิ่มขึ้น รวมถึงพัฒนาเพื่อให้รองรับการบริหารจัดการในระดับพื้นที่/จังหวัด ให้เป็นระบบการแสดงผล (Dashboard) เพื่อใช้ประกอบการตัดสินจในการกำหนดมาตรการต่างๆ ในระดับพื้นที่ให้กับ 5 จังหวัดต้นแบบ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก ชลบุรี และภูเก็ต ซึ่งจังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยว เป็นจังหวัดที่มีสภาพเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 จึงได้รับผลกระทบทั้งในด้านการท่องเที่ยว โดย GISTDA ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบูรณาการข้อมูลที่เรียกว่า COVID-19 iMap Platform” ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือให้กับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) และศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด (ศปกจ.) โดยเชื่อมโยงข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศที่มีอยู่จำนวนมาก เช่น ข้อมูลที่ตั้งของสถานที่ ข้อมูลด้านสาธารณสุข ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ และด้านประชากร จากหน่วยงานทั้งหมด 9 กระทรวง รวม 17 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กองบัญชาการกองทัพไทย และสภากาชาดไทย พัฒนาเป็นระบบศูนย์กลางข้อมูล (Data Center) เพื่อนำไปใช้ในการติดตาม เฝ้าระวัง วิเคราะห์ วางแผน สนับสนุนการทำงานประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรด้านสาธารณสุข ฟื้นฟูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการสถานการณ์อย่างทันท่วงที

ถ่ายภาพร่วมกัน
ถ่ายภาพร่วมกัน

นางกานดาศรี กล่าวต่อว่า COVID-19 iMap Platform เป็นระบบที่ใช้บริหารสถานการณ์ในระดับประเทศ แต่เนื่องจากบริบทที่แตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัดตามภูมิภาค ทำให้ต้องจำเป็นที่ต้องส่งเสริมและลงไปแก้ไขปัญหาต่างๆเฉพาะพื้นที่ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2564 GISTDA จึงได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินงานวิจัยโครงการพัฒนาระบบบริหารสถานการณ์ รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งนอกจากการขยายระบบเพื่อให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีการพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อให้รองรับการบริหารจัดการในระดับพื้นที่/จังหวัด โดยขยายขอบข่ายการเชื่อมโยงข้อมูลให้ครอบคลุม นำข้อมูลเหล่านี้นำมาวิเคราะห์ร่วมกันและแสดงผลในรูปแบบของแผนที่ดิจิทัลและระบบการแสดงผล (เป็นการนำข้อมูลมาสรุปให้เห็นเป็นภาพในหน้าเดียว) สำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลง หรือมาตรการต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ ในการกำหนดมาตรการต่างๆ ในระดับพื้นที่ของจังหวัดต้นแบบ เมื่อมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พื้นที่ศึกษาที่เป็นตัวแทนของบริบทต่างๆในครั้งนี้จะดำเนินการ วิเคราะห์เชิงลึกในด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ ในมิติของสาธารณสุข ทีมผู้วิจัยได้พัฒนาดัชนีชี้วัดความปลอดภัยต่อการติดเชื้อโควิด-19 หรือ “COVID-19 Safety Index” ขึ้น โดยใช้กระบวนการวิเคราะห์ ปัจจัยต่างๆในหลากหลายมิติ ทั้งด้านสถานการณ์การติดเชื้อ ด้านศักยภาพ/ความเพียงพอของระบบสาธารณสุข ด้านความหนาแน่นของประชากรและพื้นที่เสี่ยง และการจัดสรรวัคซีน ซึ่งมีส่วนแสดงผล 3 ส่วน คือ 1.) แสดงผลการวิเคราะห์ความปลอดภัยของพื้นที่ต่อการติดเชื้อโควิด-19 เพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างตรงจุด 2.) แสดงผลการคาดการณ์รายได้จากภาคการท่องเที่ยว เมื่อจังหวัดเริ่มมีการฟื้นตัว และ 3.) แสดงผลภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ในระดับอำเภอ และการพัฒนา Dashboard COVID-19 iMAP Platform มาใช้ในพื้นที่จังหวัดตาก จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดมีระบบเพื่อใช้บริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 และการท่องเที่ยวในระดับพื้นที่ มีข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้อง แม่นยำ สามารถวางแผนและกำหนดมาตรการสำหรับเตรียมความพร้อมเพื่อการบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนเพื่อสังเคราะห์และตรวจสอบความถูกต้องก่อนการเผยแพร่สู่ภาคประชาชนผ่านระบบเดียวกัน” นางกานดาศรี กล่าว

เสวนาหัวข้อ “COVID-19 iMAP Platform ทางเลือกเพื่อการตัดสินใจ”
ผู้เข้าร่วมเสวนา
1. นายณรงค์ อ่อนอินทร์
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด
สำนักงานจังหวัดภูเก็ต
2. นายแพทย์เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านทุติยภูมิและตติยภูมิ
โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
3. แพทย์หญิงเหมือนแพร บุญล้อม
ตำแหน่ง รักษาการในตำแหน่งนายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน)
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าตอง
4. นายมนตรี มานะต่อ
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต
5. นางกานดาศรี ลิมปาคม
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
ดำเนินรายการโดย นางสาวปาจรีย์ สวนศิลป์พงศ์
นายธานี คามเขต นักพัฒนานวัตกรรมชำนาญการ สทอภ. สาธิตการใช้งาน COVID-19 iMAP Platform

ภาพบรรยากาศภายในงาน

ภาพเก็บตกบรรยากาศภูเก็ต