0 0
Read Time:3 Minute, 33 Second

พม. นำร่อง 3 จังหวัด MOU ขับเคลื่อนกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

          ในวันอังคารที่ 21 กันยายน 2564 นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการขับเคลื่อนกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ นำร่อง 3 จังหวัด (จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชุมพรและจังหวัดร้อยเอ็ด) จำนวน 39 หน่วยงาน เพื่อสนับสนุนแนวทางการทำงานในทุกมิติสำหรับการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบที่ชัดเจนและส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ในทุกระดับ เป็นทีมสหวิชาชีพ โดยมีกรอบและข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานกลไกขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม ตามกลยุทธ์ 5Ps ประกอบด้วย ด้านนโยบาย ด้านการดำเนินคดีด้านการคุ้มครอง ด้านการป้องกันและด้านความร่วมมือ

          นางพัชรี กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรการ กลไก นโยบายสังคม และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมทุกมิติ จึงให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม ให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ จึงกำหนดให้โครงการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม เป็นโครงการสำคัญ (Flagship Projects) ประจำปี พ.ศ. 2564 เพื่อใช้ในการกำหนดทิศทางนโยบายในการพัฒนาสังคมอันจะเกิดเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางสังคมอย่างยั่งยืน จึงนำมาซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการผสานความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน รวม 27 หน่วยงาน ในส่วนกลาง ส่งต่อมาสู่ภูมิภาคในวันนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม เกิดประสิทธิภาพ มีทิศทางเดียวกันและบรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม 

          นางพัชรี กล่าวต่ออีกว่า พม. มีความมุ่งมั่นในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานโครงการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวกรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กองตรวจราชการ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และโครงการสปริง มูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม ร่วมกันกำหนดกรอบและข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานกลไกขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพตามกลยุทธ์ 5Psโดยดำเนินการนำร่องใน 3 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จำนวน 15 หน่วยงาน จังหวัดชุมพร จำนวน 12 หน่วยงานและจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 12 หน่วยงาน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนแนวทางการทำงานในทุกมิติสำหรับการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบที่ชัดเจนและส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ เป็นทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานแรงงานจังหวัดกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานอัยการจังหวัดศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ผู้ช่วยประสานงาน เช่น ล่ามภาษาต่างประเทศ ล่ามภาษามือ ผู้ดูแลคนพิการอาสาสมัคร องค์กรชุมชน องค์กรศาสนา องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จ

          นางพัชรี กล่าวทิ้งท้ายว่า “การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องได้รับความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายสามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางสังคมภายใต้รูปแบบของ “OSCC – One Stop Crisis Center” โดยบูรณาการร่วมกันดำเนินการป้องกัน เฝ้าระวัง ช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ถูกกระทำความรุนแรงในสังคม ตลอดจนพัฒนาช่องทางการสื่อสาร เพื่อลดความรุนแรงในสังคม รวมถึงดำเนินการฝึกอบรมบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้ถูกกระทำความรุนแรงในสังคมภายในจังหวัดของตนเองต่อไป”

Happy
Happy
0 %
Sad
Sad
0 %
Excited
Excited
0 %
Sleepy
Sleepy
0 %
Angry
Angry
0 %
Surprise
Surprise
0 %